; โพรงจมูกและไซนัสอักเสบ (Rhinosinusitis) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โพรงจมูกและไซนัสอักเสบ (Rhinosinusitis)

ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ข้างๆ โดยรอบของจมูก เป็นโพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกส่วนใบหน้ามีทั้งหมด 4 คู่ ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ได้แก่

- โพรงอากาศในกระดูกโหนกแก้ม (Maxillary sinus)
- โพรงอากาศที่อยู่ระหว่างเบ้าตาและด้านข้างของจมูก (Ethmoid sinus)
- โพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกส่วนหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง (Frontal sinus)
- โพรงอากาศอยู่ในกระดูกส่วนที่เป็นฐานสมอง (Sphenoid sinus)

       ไซนัสอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุโพรงไซนัส อาจเกิดขึ้นในโพรงไซนัสเดียวหรือหลายๆไซนัสพร้อมๆ กัน อาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ เป็นโรคที่พบได้บ่อย มักเกิดร่วมกับการอักเสบติดเชื้อในจมูก ตามหลังการติดเชื้อหวัด  ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หรือโรคหืดจะมีไซนัสอักเสบร่วมด้วยประมาณ 40 - 50 %  ส่วนใหญ่การอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรีย รองลงมาคือเชื้อไวรัส และที่พบได้น้อยคือการอักเสบจากเชื้อรา ไซนัสที่เกิดการอักเสบมากที่สุดคือ โพรงไซนัสในกระดูกแก้ม (Maxillary sinus) กับไซนัสข้างกระบอกตาและจมูก (Ethmoid sinus) ตามด้วยไซนัสบริเวณหน้าผาก (Frontal sinus) พบน้อยที่ไซนัสบริเวณฐานสมอง(Sphenoid sinus)

       ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute rhinosinusitis) คือ การอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกและไซนัส ที่มีระยะเวลาการอักเสบและรักษาหายได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
       - การติดเชื้อของระบบทางเดินหายส่วนบนหรือโรคหวัด ซึ่งจะไปทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบ
และอาจอักเสบต่อ เนื่องเข้าไปถึงในไซนัส ระยะแรกเกิดจากเชื้อไวรัสต่อมาอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
       - การติดเชื้อของฟัน โดยเฉพาะฟันกรามแถวบน พบเกี่ยวข้องกับการอักเสบของโพรงไซนัสกระดูกโหนกแก้ม (Maxillary sinus)
       - มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก
       - การเปลี่ยนแปลงความดันอากาศรอบๆตัวทันที เช่น ขณะเครื่องบินขึ้นหรือลงจอด และการดำน้ำลึกในขณะช่วงที่เป็นหวัด

       ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic rhinosinusitis) คือ การอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกและไซนัส ที่มีระยะเวลาการอักเสบนานมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป การที่ไซนัสอักเสบเฉียบพลันจะกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังได้นั้น จะต้องมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น
        - การผันแปรกายวิภาคของกระดูกหรือมีก้อนในโพรงจมูก เช่นริดสีดวงจมูก ทำให้เสริมการอุดกั้นรูระบายของโพรงไซนัส
        - การติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิด หรือดื้อต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
        - การติดเชื้อรา
        - การทำงานของเมือกและขนกวัดผิดปกติ
        - ปัจจัยทางกรรมพันธุ์เช่น ภูมิแพ้, หืดหอบ, แพ้แอสไพริน
        - ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่, มลภาวะ, สารเคมี
        - อื่นๆ เช่น ต่อมอะดีนอยด์โต หรือกรดไหลย้อน

       อาการที่พบบ่อยได้แก่ ปวดบริเวณใบหน้าหรือฟัน คัดจมูก น้ำมูกข้นเป็นหนองหรือเสมหะลงคอ การรับกลิ่นลดลงหรือรับกลิ่นไม่ได้เลย มีไข้ (เฉพาะไซนัสอักเสบเฉียบพลัน) ปวดหู หูอื้อ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

       นอกจากประวัติอาการดังกล่าว แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย พบเยื่อบุโพรงจมูกบวมแดง มีหนองหรือมูกในช่องจมูก บริเวณรูเปิดไซนัส หรือเป็นเสมหะลงคอ นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้อง (Rhinoscopy) การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ธรรมดาหรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

       หลักในการรักษาไซนัสอักเสบ คือ การรักษาการติดเชื้อ ทำให้การระบายของโพรงอากาศดีขึ้น ร่วมกับรักษาและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดการอักเสบ

การรักษาด้วยยา ได้แก่

       - ยาปฏิชีวนะ มีหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับเชื้อแบคทีเรียที่คาดว่าเป็นสาเหตุและโอกาสดื้อยา ส่วนใหญ่ต้องให้ขนาดสูงพอและให้ต่อเนื่องกันนานพอที่จะทำให้เชื้อโรคถูกกำจัดหมดไป โดยทั่วไปให้นานไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการ อาการแสดงของผู้ป่วย และระยะเวลาการอักเสบป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้องรัง
       - ยาระงับอาการ เช่น ยาลดคัดจมูก, ยาแก้ปวด, ยาละลายเสมหะ
       - ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน จะใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูฏอักเสบจากภูมิแพ้เท่านั้น
       - ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ช่วยลดการอักเสบ มีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนว่าทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น
       - ยาต้านเชื้อรา ใช้เมื่อเป็นการอักเสบติดเชื้อราที่ลุกลามเข้าสู่เยื่อบุผิว
       - การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

การรักษาด้วยการผ่าตัด

       ปัจจุบันมีการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้อง endoscope  มีข้อบ่งชี้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา มีการผันแปรกายวิภาคของกระดูกหรือมีก้อนในโพรงจมูก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อทำให้การระบายของโพรงอากาศดีขึ้น สามารถผ่าตัดด้วยการใช้ยาชาหรือยาสลบ การผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้องมีข้อดีคือ ไม่มีแผลภายนอก ฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพียง 2 - 3 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ต้องมาติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเดือนแรก และล้างจมูกอย่างสม่ำเสมอ